GrabNEXT: ยกระดับประเทศไทย เพื่อชีวิตที่ดีกว่า

เศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยกำลังอยู่ในระหว่างการเปลี่ยนผ่านเพื่อก้าวเข้าสู่ “เศรษฐกิจดิจิทัล” โดยเห็นได้จากการเพิ่มจำนวนอย่างก้าวกระโดดของการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และยอดจำนวนผู้ใช้งานแพลตฟอร์มหรือแอปพลิเคชัน ที่ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของพวกเราทุกคนอย่างยากที่จะปฏิเสธได้ การระบาดของโรคโควิด 19 ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา เป็นเสมือนตัวเร่งที่สำคัญซึ่งก่อให้เกิดการใช้งานของเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น ส่งผลให้ผู้คนต่างต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของตนเอง สู่แนวทางการบริโภคและการติดต่อสื่อสารแบบใหม่ที่ต้องพึ่งพาการใช้งานของเทคโนโลยีมากขึ้น โดยแพลตฟอร์มดิจิทัลเหล่านี้ได้เปิดประตูแห่งโอกาสให้กับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐ ภาคธุรกิจและภาคประชาชน ให้สามารถเข้าถึงและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ความคิดเห็น และก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากมาย ผ่านการซื้อขายสินค้าและบริการต่างๆ บนโลกออนไลน์ ที่มาพร้อมกับความสะดวกและประสิทธิภาพที่มากขึ้น

การทำงานแห่งโลกยุคใหม่ (Future of Work) ที่ได้รับอานิสงส์จากการเติบโตของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ  ส่งผลให้คนทำงานและผู้ประกอบการขนาดเล็กมีทางเลือกและโอกาสมากยิ่งขึ้น ดังนั้น การสร้างเวทีที่ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางความคิดและสนับสนุนการศึกษาเพื่อหาแนวทางที่ทุกภาคส่วนจะสามารถทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้อย่างเต็มศักยภาพภายใต้บริบทใหม่ของสังคมในยุคสมัยนี้จะช่วยให้เราสามารถกำหนดกรอบและทิศทางในการพัฒนาภูมิทัศน์ดิจิทัลของประเทศไทย (Thailand Digital Landscape) ต่อไปในอนาคตได้อย่างเหมาะสม การตกผลึกทางความคิดในเนื้อหาเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง

Grab คือหนึ่งในบริษัทชั้นนำผู้ให้บริการแอปพลิเคลชันหรือแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่มีพันธกิจสำคัญในการขับเคลื่อนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อช่วยยกระดับชีวิตของคนในสังคมให้ดีขึ้นผ่านการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี โดยเปรียบเทคโนโลยีเป็นเหมือนอาวุธที่สำคัญที่ใช้ในการต่อสู้กับข้อจำกัดต่างๆ ของผู้คนในสังคม เช่น ความเหลื่อมล้ำของรายได้ การจราจรแออัด และการขาดโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะ เป็นต้น

เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา Grab ได้เชิญผู้นำทางความคิดชั้นนำระดับประเทศมาร่วมงาน GrabNEXT:  ยกระดับประเทศไทย เพื่อชีวิตที่ดีกว่า ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อร่วมแสดงทรรศนะพร้อมพูดคุยถึงแนวทางการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัล โดยได้รับเกียรติจาก นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ร่วมเป็นประธานในพิธีและกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “Better Life for Riders ยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า” โดยท่านเน้นย้ำว่าภาครัฐนั้นพร้อมที่จะสนับสนุนและผลักดัน พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานนอกระบบ เพื่อให้แรงงานที่สำคัญของประเทศเหล่านี้สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการประกอบอาชีพ มีความปลอดภัยในการทำงาน มีหลักประกันทางสังคม เพื่อพัฒนาสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

หนึ่งในไฮไลท์ที่สำคัญของงาน GrabNEXT ในครั้งนี้ คือ เวทีเสวนาวิชาการ (Panel Discussion) ภายใต้หัวข้อ “บทบาทของเทคโนโลยีเพื่อเศรษฐกิจยุคใหม่ที่ยั่งยืน”  โดยมุ่งเน้นไปที่ 3 ประเด็นหลัก คือ การทำงานแห่งโลกยุคใหม่ (Future of Work) การส่งเสริมการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Inclusion) และ การสร้างความยั่งยืนในด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Sustainability)  โดยได้ผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อันได้แก่ ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิด้าน Digital Transformation สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา/กรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ ดร.กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) มาแลกเปลี่ยนทัศนะ พร้อมกันกับ นายวรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการบริหาร แกร็บ ประเทศไทย

บทความนี้จะช่วยสรุป 5 ประเด็นสำคัญที่เหล่าผู้เชี่ยวชาญได้เสนอแนะและแลกเปลี่ยนกันในช่วง Panel Discussion ภายในงาน GrabNEXT ในครั้งนี้

เทคโนโลยีเป็นเพียงเครื่องมือ ไม่ใช่จุดเริ่มต้น

สิ่งสำคัญอันดับแรก คือการทำความเข้าใจว่า เทคโนโลยีนั้นไม่ควรถูกมองเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหา แต่ควรถูกมองเป็นเพียงเครื่องมือที่จะช่วยแก้ปัญหานั้นๆ ให้ได้ดีและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น คุณณัฐพร กล่าวถึง ผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มดิจิทัล เช่น แกร็บ ว่าสามารถเข้ามามีบทบาทสำคัญในการใช้ความเชี่ยวชาญของตน ไม่ว่าจะเป็น ด้านการเข้าถึงข้อมูลเชิงลึก หรือด้านนวัตกรรม ในการร่วมมือกับภาครัฐ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาทางสังคมอย่างยั่งยืนและเท่าเทียม นอกจากนี้ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับทุกๆ คนในฐานะผู้ใช้เทคโนโลยี เราจำเป็นต้องเข้าใจวัตถุประสงค์ของการใช้เทคโนโลยีในแต่ละประเภทอย่างถ่องแท้ เพื่อให้สามารถเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับแต่ละวัตถุประสงค์  ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเทคโนโลยี จะช่วยผู้ใช้งานใน 3 แขนงหลักๆ ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพ (Efficiency) การเพิ่มการเข้าถึง (Accessibility) และ การเพิ่มความโปรงใส (Transparency) ของกระบวนการทำงาน คุณณัฐพร สรุปเพิ่มเติมว่า เป้าหมายที่สำคัญคือการเข้าใจบทบาทของตนเองในระบบนิเวศ (Ecosystem) และหาวิธีการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อให้สามารถทำหน้าที่ของตนให้ดีขึ้น

บทบาทหลักของภาครัฐในการผลักดันการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล

ในการผลักดันและขับเคลื่อนประเทศสู่ Digital Transformation ต้องอาศัยความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน และหนึ่งในภาคส่วนที่เรียกได้ว่าเป็นตัวแปรสำคัญลำดับแรกๆ เลย ก็คือ ภาครัฐ ซึ่ง ดร.ศักดิ์ อธิบายว่ากรอบของบทบาทในบริบทนี้สำหรับหน่วยงานรัฐมีด้วยกัน 2 ส่วนหลักๆ ได้แก่ บทบาทแรก ในฐานะเป็นผู้กำหนดนโยบาย ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำงานใกล้ชิดกับภาคธุรกิจและภาคประชาชน เพื่อทำความเข้าใจในวิธีการทำงานของ Ecosystem ใหม่ๆ เหล่านี้ เพื่อให้สามารถช่วยออกแบบสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตและการพัฒนาทางธุรกิจอย่างทันสมัย ส่วนบทบาทที่สอง คือ การเป็นผู้นำและนักลงทุนเชิงกลยุทธ์ในด้านเทคโนโลยีดิจิทัล โดยในที่นี้ ดร.ศักดิ์ ได้ยกตัวอย่างเรื่องการผลักดันให้เกิด Digital ID ซึ่งจะทำให้การทำธุรกรรมต่างๆ มีความสะดวกราบรื่น ลดระยะเวลาและค่าใช้จ่าย อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มความสะดวกในการทำงานให้กับเศรษฐกิจดิจิทัลรูปแบบใหม่ เช่น e-Commerce, Telemedicine และ e-Government เป็นต้น ดร.ศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า Digital ID จะเป็นรากฐานสำคัญในการนำธุรกิจและประชาชนชาวไทยให้สามารถเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ

บทบาทของแพลตฟอร์มดิจิทัล ในการช่วยนำพาประเทศสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ที่ยั่งยืน

คุณวรฉัตร อธิบายว่า แพลตฟอร์มดิจิทัลอย่างฟู้ดเดลิเวอรีเป็นเสมือนตัวเชื่อมของกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างภาครัฐ ลูกค้า พาร์ทเนอร์คนขับ และร้านอาหาร  แพลตฟอร์มเหล่านี้ช่วยให้ร้านค้าขนาดเล็กแบบดั้งเดิมสามารถเข้ามาแข่งขันในตลาดที่มีขนาดใหญ่และกว้างขึ้นกว่าเดิมได้อย่างมีนัยสำคัญ ด้วยการลดข้อจำกัดเรื่องระยะทางและที่ตั้งของร้านค้า อีกทั้งยังเป็นตัวช่วยให้เกิดการยกระดับขีดความสามารถในการประกอบธุรกิจอีกด้วย นอกจากนี้ แพลตฟอร์มดิจิทัลอย่าง Grab ยังเปิดโอกาสในการสร้างรายได้เพิ่มให้กับพาร์ทเนอร์คนขับที่มีกว่าหลายแสนราย โดยส่วนใหญ่เลือกทำงานในลักษณะพาร์ทไทม์  เพื่อหารายได้เสริมในการดูแลจุนเจือครอบครัว

นอกจากนั้น คุณวรฉัตรกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า แพลตฟอร์มยังสามารถมีบทบาทในการสนับสนุนด้านการพัฒนาตนเองให้กับพาร์ทเนอร์ที่อยู่ในระบบนิเวศผ่านการฝึกอบรม โดยการให้ความรู้หรือพัฒนาทักษะที่มีประโยชน์และน่าสนใจ เช่น คอร์สสอนถ่ายรูปอาหาร ความรู้ทางภาษาเบื้องต้น หรือความรู้ในด้านการเงินและภาษี เป็นต้น

3 ทักษะที่จำเป็นสู่ความสำเร็จในอนาคตยุคดิจิทัล

ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งสี่ท่านร่วมแสดงความคิดเกี่ยวกับทักษะที่จะช่วยให้ผู้คนสามารถเข้าใกล้ความสำเร็จในโลกแห่งเทคโนโลยีที่กำลังมาถึง โดย ดร.กาญจนามองว่าสิ่งสำคัญอันดับแรกก่อนที่จะไปถึงการพัฒนาทักษะ คือการพัฒนา Digital literacy และสร้างให้ทุกคนมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับความสำคัญและโอกาสที่เทคโนโลยีดิจิทัลจะสามารถมอบให้กับทุกภาคส่วน   ดร.กาญจนาอธิบายเพิ่มเติมว่า ความเข้าใจในประโยชน์ของการเข้ามามีส่วนร่วมในระบบนิเวศดิจิทัลส่งผลโดยตรงต่อความพยายามในการขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อให้ได้มาซึ่งทักษะทางดิจิทัลที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพของแต่ละบุคคล ซึ่งทักษะนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning)

นอกเหนือจาก  Lifelong learning แล้ว ผู้ทรงคุณวุฒิท่านอื่นๆ ยังระบุอีกว่า ทักษะในการบริหารจัดการเวลา (Time management) ก็เป็นอีกหนึ่งทักษะที่สำคัญในยุคดิจิทัลซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา ความสามารถในการจัดระดับความสำคัญเพื่อเลือกทำในสิ่งที่จะเกิดประโยชน์ต่อตัวเองมากกว่าจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง

การทำงานร่วมกันคือกุญแจที่สำคัญสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

ท้ายที่สุดแล้ว ประเด็นที่วิทยากรทั้งสี่ท่านเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยนำพาประเทศไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ คือการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนในระบบนิเวศ เริ่มต้นจากภาครัฐที่ต้องทำหน้าที่กำหนดกรอบการกำกับดูแลที่ทันสมัยและสามารถส่งเสริมสนับสนุนรูปแบบการทำธุรกิจแบบดิจิทัลใหม่ๆ ให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ภายใต้การแข่งขันทางการค้าที่เสรีและเป็นธรรม ในขณะที่ภาคเอกชนเองนั้นก็ต้องมีโมเดลในการทำธุรกิจที่ดี โดยต้องไม่มุ่งเน้นเพียงแค่การแสวงหาผลกำไร แต่ยังต้องคำนึงถึงการสร้างผลกระทบเชิงบวกที่ยั่งยืนต่อสังคมในเวลาเดียวกันด้วย ส่วนภาคการศึกษาต้องช่วยสนับสนุนและปลูกฝังให้เกิดค่านิยมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) เพื่อให้ทุกๆคนใส่ใจกับการพัฒนาทักษะของตนเอง เพื่อที่จะสามารถทำหน้าที่ของตนให้ได้ดียิ่งขึ้น  การประสานความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนที่มีวิสัยทัศน์และจุดมุ่งหมายร่วมกันบนพื้นฐานของความไว้วางใจซึ่งกันและกัน โดยมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นเสมือนสะพานในการเชื่อมทุกสิ่งทุกอย่างเข้าหากัน จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำพาประเทศไปสู่ “เศรษฐกิจยุคใหม่ที่ยั่งยืน”

ข้อมูลเพิ่มเติม

ภายในงาน GrabNEXT ในครั้งนี้ แกร็บ ประเทศไทย ได้เผยภาพรวมการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับ 3 ประเด็นหลักเพื่อร่วมผลักดันประเทศไทยให้ก้าวไปสู่การเป็นผู้นำเศรษฐกิจดิจิทัล อันได้แก่

  • การทำงานแห่งโลกยุคใหม่ (Future of Work) การเข้ามาของธุรกิจแพลตฟอร์มหรือแอปพลิเคชันอย่างแกร็บ ได้ทำให้เกิดการทำงานในรูปแบบใหม่ ซึ่งสร้างโอกาสในการหารายได้ให้กับผู้คนมากมาย เพื่อสนับสนุนรูปแบบการทำงานในโลกยุคใหม่ที่เน้นความยืดหยุ่นและมีอิสระ แกร็บได้เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถใช้แพลตฟอร์มของเราในการหารายได้ผ่านการให้บริการอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็น บริการเรียกรถ หรือเดลิเวอรี โดยไม่จำกัดเพศ วัย การศึกษา หรือแม้แต่ผู้ที่มีข้อจำกัดทางด้านร่างกาย เช่น ผู้พิการทางการได้ยิน ก็สามารถสมัครเป็นพาร์ทเนอร์คนขับได้ ทั้งยังมีการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ เพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการทำงานผ่านโปรแกรม GrabBenefits อาทิ การทำประกันอุบัติเหตุ การให้สินเชื่อ หรือแม้แต่ส่วนลดจากพันธมิตร เป็นต้น โดยในปีนี้ แกร็บตั้งเป้าในการมีส่วนร่วมผลักดันมาตรฐานรูปแบบการทำงานแห่งโลกยุคใหม่โดยเน้นไปใน 5 ด้าน (5 อ.) อันได้แก่ การส่งเสริมรูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่นและมีอิสระ การเปิดโอกาสให้ผู้คนสามารถอยู่ร่วมกันได้บนความหลากหลาย การอบรมเพื่อส่งเสริมและพัฒนาทักษะที่จำเป็น การพัฒนาสิทธิประโยชน์เพื่อสร้างความอุ่นใจ และการส่งเสริมการอดออมและบริหารทางการเงิน
  • การส่งเสริมการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Inclusion) การส่งเสริมให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการใช้เทคโนโลยีอย่างเท่าเทียมเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับผู้คนในสังคม ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญที่แกร็บมุุ่งผลักดันมาโดยตลอด ดังนั้น แกร็บ จึงได้ริเริ่มและดำเนินโครงการ GrabAcademy เพื่อพัฒนาและส่งเสริมทักษะเชิงดิจิทัลให้กับพาร์ทเนอร์คนขับและร้านอาหาร ขณะเดียวกัน แกร็บยังได้ส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial Inclusion) ผ่านการพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อตอบสนองกลุ่มคนที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ โดยใช้ประโยชน์จากบิ๊กดาต้า (Big Data) และการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยระบบ AI อาทิ บริการสินเชื่อแบบผ่อนจ่ายรายวัน และบริการผ่อนชำระสินค้า เป็นต้น โดยในปีนี้ แกร็บ เตรียมขยายการเข้าถึงความรู้ใน GrabAcademy ไปยังกลุ่มพาร์ทเนอร์คนขับสูงวัย พร้อมตั้งเป้าให้ขยายการให้สินเชื่อกับพาร์ทเนอร์คนขับและร้านค้าในวงกว้างมากยิ่งขึ้น
  • การสร้างความยั่งยืนในด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Sustainability) สิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญทางสังคมที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญ และร่วมกันแสดงความรับผิดชอบ ในฐานะผู้ให้บริการแอปพลิเคชันที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางและการขนส่งแกร็บ ได้ริ่เริ่มโครงการและกิจกรรมต่างๆ ที่ช่วยลดผลกระทบเชิงสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจ อาทิ ฟีเจอร์งดรับช้อนส้อมพลาสติกแบบอัตโนมัติเมื่อสั่งอาหารผ่านแกร็บฟู้ด หรือฟีเจอร์พิเศษที่ชวนให้ผู้ใช้บริการมีส่วนร่วมในการชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนผ่านการบริจาคเงินเพื่อสมทบในการปลูกป่า และล่าสุดกับการประกาศเป้าหมายระยะยาวในการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยตั้งเป้าเพิ่มจำนวนพาร์ทเนอร์คนขับ-ผู้จัดส่งอาหารที่ใช้ EV ให้ได้ 10% ของจำนวนพาร์ทเนอร์คนขับทั้งหมดภายในปี 2569  ทั้งยังได้ร่วมกับสถาบันการเงิน และผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าพัฒนาโปรแกรม ‘สินเชื่อรถยนต์ไฟฟ้าสำหรับพาร์ทเนอร์คนขับ’ เป็นต้น โดยในปีนี้ แกร็บ เตรียมผนึกความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าในกลุ่มพาร์ทเนอร์คนขับและผู้จัดส่งอาหาร-พัสดุอย่างต่อเนื่อง