ไขข้อสงสัย ทำไม Grab ต้องกันวงเงินเมื่อจ่ายด้วยบัตรหรือ วอลเล็ต?

หากคุณเจอข้อความแจ้งเตือนเกี่ยวกับการกันวงเงินเมื่อเลือกชำระค่าบริการ Grab ด้วยบัตรเครดิต/เดบิตผ่าน GrabPay หรือใช้ GrabPay Wallet ไม่ต้องตกใจไป และลองมาทำความรู้จักกับระบบนี้กันสักนิด

🔍 การกันวงเงินคืออะไร
การกันวงเงินคือการที่ Grab ส่งคำสั่งเพื่อให้ธนาคารผู้ออกบัตร (เดบิต หรือเครดิต) แล้วแต่กรณี ทำการล็อควงเงิน (ตามนโยบายการให้บริการของบริษัท) หรือในกรณีของ GrabPay Wallet ระบบจะมีการกันวงเงิน ซึ่งจะแจ้งว่า ‘ถูกพักไว้’ เพื่อตรวจสอบว่าบัตรมียอดเงินเพียงพอสำหรับใช้งานหรือไม่ ซึ่งการกันวงเงินบัตรนี้เป็นเครื่องมือป้องกันความเสียงและเป็นวิธีที่ใช้กันทั่วไปในหลายธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการเช็คอินเข้าโรงแรม หรือการเช่ารถยนต์ เช่น เวลาที่เราเช็คอินที่โรงแรมเจ้าหน้าที่จะกันวงเงินบัตรไว้เพื่อเป็นการประกันค่าเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งวงเงินจะถูกคืนเมื่อตรวจสอบแล้วไม่พบความเสียหาย เป็นต้น

⏰ ระยะเวลาในการคืนเงินหลังจากทำการกันวงเงิน
Grab และระบบ Payment Gateway จะทำการส่งคำสั่งไปยังธนาคารผู้ออกบัตรที่เกี่ยวข้องเพื่อคืนเงินที่ประกันไว้กลับทันทีหลังจากที่สิ้นสุดการใช้บริการ Grab หรือมีการยกเลิกการใช้บริการ Grab ผ่านแอป โดยที่ Grab ไม่ได้ทำการตัดเงินดังกล่าวเข้าสู่ระบบของGrab แต่อย่างใด
– กรณีที่เป็นบัตรเครดิต ทางGrab จะใช้เวลา 30-60 นาที ในการยกเลิกรายการและคืนวงเงินบัตร โดยยอดเงินของคุณจะปรากฎในรอบบิลถัดไป และระยะเวลาดำเนินการปรับปรุงยอดเงินคืนอาจขึ้นอยู่กับวันตัดรอบบิลของคุณ
– กรณีที่เป็นบัตรเดบิต ยอดเงินจะถูกคืนทันที ธนาคารผู้ออกบัตรของผู้ใช้บริการจะเป็นผู้กำหนดระยะเวลาในการดำเนินการเพื่อตรวจสอบยอดก่อนทำการคืนเข้าบัญชี สำหรับบัตรเดบิต สามารถสอบถามโดยตรงได้จากทางธนาคารโดยอาจใช้เวลาตั้งแต่ 7-45 วันทำการแล้วแต่กระบวนการของทางธนาคาร
– กรณีที่เป็น GrabPay Wallet ท่านจะได้รับยอดเงินคืนภายใน 24 ชั่วโมง

💵 Grab จะกันวงเงินไว้กี่บาท
ไม่มีจำนวนกำหนดที่แน่นอน ขึ้นอยู่กับค่าใช้บริการในแต่ละประเภท ยอดเงินที่ถูกกันเอาไว้จะเป็นยอดประมาณการสูงสุดที่แสดงหน้าแอป ซึ่งยังไม่ถือว่าถูกตัดยอด จนกว่าการใช้บริการจะเสร็จสิ้นและจะตัดเป็นยอดที่ระบุในใบเสร็จเท่านั้น Grab จะทำการคืนส่วนต่างจากยอดที่ประกันไว้จริง เช่น ค่าบริการจริง 200 บาท มีการประกันวงเงินไว้ 290 บาท Grab จะทำการคืนยอด 90 บาทนี้เข้าวงเงินหรือบัญชีของบัตรที่ลงทะเบียนทันที ทั้งนี้ ยอดเงินที่ถูกกันไว้จะไม่แสดงในใบเสร็จหลังจากสิ้นสุดการใช้งาน แต่จะปรากฏรายการดังกล่าวใน statement บัตรหรือบัญชีธนาคาร (แล้วแต่กรณี)

💚 สาเหตุที่ Grab ต้องใช้ระบบนี้
ทุกการใช้บริการแกร็บนอกเหนือจากค่าบริการแล้ว ระหว่างการใช้งานอาจมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกิดขึ้นและแกร็บเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการเพิ่มเติม เช่น ค่าทางด่วน ค่าจอดรถ ค่าธรรมเนียมการเปลี่ยนจุดหมายปลายทาง การเปลี่ยนแปลงรายการอาหาร เป็นต้น จึงเป็นสาเหตุที่แกร็บจำเป็นต้องใช้ระบบดังกล่าวในการกันวงเงินค่าใช้บริการที่ถูกประมาณการสูงสุด (Upper bound fare) ที่แสดงตามหน้าแอป เพื่อป้องกันความเสี่ยงในกรณีที่แกร็บอาจไม่สามารถเรียกเก็บค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นได้

สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://help.grab.com/passenger/th-th/360002030307