#ถามแกร็บ: ค่าคอมมิชชันที่เก็บจากร้านอาหารถูกนำไปใช้ทำอะไรบ้าง?

ในช่วงที่ผ่านมา คุณอาจเคยได้ยินข้อถกเถียงที่เกี่ยวกับบริการจัดส่งอาหารเดลิเวอรีไม่มากก็น้อย บ้างก็ว่าบริการดังกล่าวช่วยให้ผู้ประกอบการธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มมีรายได้มากขึ้น แต่ในมุมกลับกัน เมื่อพูดถึงค่าคอมมิชชัน หลายคนมองว่าร้านอาหารต้องจ่ายค่าคอมมิชชันในอัตราที่สูงเกินไป เราจึงอยากใช้พื้นที่นี้อธิบายให้ทุกคนทราบว่า เงินค่าคอมมิชชันที่เก็บจากร้านอาหารนั้นถูกนำไปใช้เพื่อดำเนินกิจกรรมใดบ้าง

Q: แกร็บฟู้ดเก็บค่าคอมมิชชันจากร้านอาหารเท่าไร?

โดยทั่วไป เราจะคิดค่าคอมมิชชันจากร้านอาหารในอัตราสูงสุดที่ 30% ของมูลค่าของการสั่งอาหารต่อครั้ง ซึ่งสำหรับในประเทศไทย ออเดอร์ส่วนใหญ่จะมีมูลค่าประมาณ 150 – 200 บาท ดังนั้น ค่าคอมมิชชันโดยประมาณจะอยู่ที่ 45 – 60 บาท

Q: ค่าส่งอาหาร (Delivery Fee) เข้ากระเป๋าใคร?

พาร์ทเนอร์คนขับจะได้รับค่าส่งอาหาร (Delivery fee) ที่ผู้ใช้บริการจ่ายไปในออเดอร์นั้นๆ โดยถูกรวมอยู่ในค่ารอบ (Base fare) นอกจากนี้ ยังมีเบี้ยขยันหรืออินเซนทีฟ (Incentive) เพิ่มเติม เพื่อให้มั่นใจว่าพวกเขาจะได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม ซึ่งโดยปกติแล้ว ค่าตอบแทนรวมที่พาร์ทเนอร์คนขับได้รับจะสูงกว่าค่าส่งอาหารที่ผู้ใช้บริการจ่ายต่อครั้ง

Q: การเก็บค่าคอมมิชชันในอัตราสูงสุดที่ 30% ถือว่ามากเกินไปไหม? แล้วเงินดังกล่าวถูกใช้อย่างไร?

การเก็บค่าคอมมิชชันในอัตราดังกล่าวทำให้เรามั่นใจได้ว่า พาร์ทเนอร์คนขับแกร็บจะได้รับค่าตอบแทนโดยรวมในอัตราที่เหมาะสม รวมถึงยังช่วยให้เราสามารถบริหารจัดการแพลตฟอร์มในการจัดส่งอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ มาดูกันว่าเงินค่าคอมมิชชันถูกใช้ไปอย่างไรบ้าง

ตัวอย่าง

(ตัวเลขที่ใช้ยกตัวอย่างอาจแตกต่างกันไปตามปัจจัยต่างๆ โดยจะนำค่าคอมมิชชันในอัตราสูงสุดที่ 30% มาใช้ในการคำนวณ)

พิซซ่าสำหรับ 1 ที่

      • ราคารวม: 150 บ.
      • ค่าส่ง: 20 บ. (ยกตัวอย่างจากระยะการส่ง 5 กม. ทั้งนี้ การคิดค่าส่งขึ้นอยู่กับระยะทาง อุปสงค์และอุปทาน;จำนวนผู้สั่งและจำนวนคนขับที่ให้บริการในช่วงเวลานั้นๆ ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้)
      • ยอดที่ลูกค้าจ่าย: 170 บ.

แล้วเงินจำนวนดังกล่าวไปไหน?

      • จ่ายให้กับร้านอาหาร: 105 บ. (หรือ 70% ของราคาอาหาร/ยอดรวมการสั่งอาหารต่อครั้ง)
      • ค่าคอมมิชชันที่จ่ายให้กับแกร็บ: 45 บ. (หรือ 30% ของราคาอาหาร)
      • โดยแกร็บจะจัดสรรให้กับพาร์ทเนอร์คนขับ: ประมาณ 50-60 บ. (ซึ่งมาจากค่าส่ง 20 บ. รวมกับเงินสมทบจากแกร็บเพื่อให้พวกเขาได้ค่าตอบแทนที่เหมาะสมในแต่ละครั้งที่รับงานเพิ่มอีกประมาณ 30 – 40 บ.)

โดยส่วนใหญ่แล้ว ค่าคอมมิชชันที่เก็บจากร้านอาหารจะถูกจ่ายให้กับพาร์ทเนอร์คนขับโดยตรง เพื่อเป็นค่าตอบแทนและเป็นกำลังใจให้กับพวกเขาในการให้บริการ ให้คุ้มกับเวลาและความทุ่มเทในทุกๆ ครั้งที่ส่งมอบอาหารให้กับผู้ใช้บริการ

สำหรับในบางออเดอร์ กรณีมีเงินส่วนที่เหลือจากค่าคอมมิชชัน เราจะนำไปสมทบเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่างๆ เพื่อพัฒนาบริการ ซึ่งรวมถึง การทำประกันอุบัติเหตุเพื่อคุ้มครองพาร์ทเนอร์คนขับผู้จัดส่งอาหาร ค่าใช้จ่ายจากธุรกรรมการชำระเงินแบบไม่ใช้เงินสด (เช่น ค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตประมาณ 2.5 – 3% ต่อมูลค่าธุรกรรมนั้นๆ) กิจกรรมการตลาดและการทำโปรโมชันสำหรับผู้ใช้บริการ การปรับปรุงผลิตภัณฑ์และบริการ รวมไปถึงค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับพนักงานฝ่ายสนับสนุน เช่น แผนกบริการลูกค้า (Customer service) เป็นต้น

 

Q: สำหรับในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ ซึ่งผู้ประกอบการทุกร้านต้องประสบกับปัญหาหลักจากการไม่มีลูกค้าเข้าไปนั่งทานที่ร้านได้ สิ่งที่เราต้องการช่วยเหลือมากที่สุด คือ การทำให้ร้านเหล่านั้นยังมีการใช้บริการและมียอดขายได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ลูกค้ายังสามารถรับประทานอาหารจากร้านที่ตนเองอยากสั่งได้โดยคงมาตรฐานด้านคุณภาพ รวมถึงความปลอดภัยและสุขอนามัย มาดูกันว่าแกร็บได้ดำเนินการใดบ้างเพื่อให้ร้านอาหารสามารถรับออเดอร์ได้เหมือนเดิม หรืออาจจะมากกว่าเดิม

สำหรับมาตรการล่าสุดที่แกร็บได้ให้การช่วยเหลือพาร์ทเนอร์ร้านอาหารและผู้ประกอบการรายย่อย

ประกอบไปด้วย:

1. กระตุ้นการใช้บริการเพื่อช่วยเหลือร้านอาหารขนาดเล็กผ่านแคมเปญ “อุดหนุนร้านค้าคนไทย” ด้วยการมอบส่วนลดค่าส่ง 15 บาทเมื่อสั่ง GrabFood 150 บาท เมื่อกรอกรหัส “SUPPORT” รวมทั้งสิ้น 217,000 สิทธิ ตั้งแต่วันที่ 1 – 31 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา พร้อมช่วยโปรโมตร้านอาหารขนาดเล็กทั่วประเทศในรูปแบบต่างๆ ผ่านสื่อและแอปพลิเคชัน Grab เช่น ไอคอน แบนเนอร์ รวมถึงสื่อออนไลน์ของแกร็บ และสื่อโฆษณาในรูปแบบอื่นๆ

2. ขยายระยะเวลามาตรการปรับลดค่าคอมมิชชันเหลือ 0% ให้กับพาร์ทเนอร์ร้านอาหารของแกร็บ สำหรับการสั่งอาหารแบบ “รับอาหารที่หน้าร้านด้วยตนเอง” (Self Pick-up) ไปจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 โดยพาร์ทเนอร์ร้านอาหารสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง https://www.grabmerchantth.com/spu นอกจากนี้ ยังมอบส่วนลดให้ผู้ใช้บริการ 20% (ลดสูงสุด 100 บาท) เมื่อสั่งอาหารจากร้านค้ากลุ่มนี้ เพียงใส่รหัส “PICKUP20

3. ยกเว้นค่าคอมมิชชันเป็นระยะเวลา 14 วันแรก สำหรับร้านอาหารที่ไม่เคยขายผ่าน GrabFood และได้สมัครเข้าร่วมเป็นพาร์ทเนอร์ร้านค้าเป็นครั้งแรก ในพื้นที่กรุงเทพ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และยะลา (เริ่มสมัครระหว่างวันที่ 1 – 31 กรกฎาคม 2564)

 

การช่วยเหลือทางธุรกิจ สำหรับร้านอาหาร:

แกร็บได้จัดทำเว็บไซต์ภายใต้โครงการ GrabAcademy Merchant เพื่อเป็นช่องทางให้พาร์ทเนอร์ร้านอาหารของเราได้เรียนรู้และทำความเข้าใจการทำงานของแพลตฟอร์มของเราได้ดีชึ้น โดยนำเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ อาทิ การทำงานของแอป วิธีตรวจสอบออเดอร์ แก้ไขเมนู หรือการสร้างโปรโมชัน รวมถึงคำถามที่พบบ่อย โดยสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.grabmerchantth.com/training

 

เพิ่มยอดขายด้วยการขยายรัศมีในการจัดส่ง:

เราได้ขยายรัศมีการให้บริการไกลขึ้นถึง 20 กม. ในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ เพื่อช่วยให้พาร์ทเนอร์ร้านอาหารของเราสามารถเข้าถึงลูกค้าที่อยู่ไกลออกไปได้ ทั้งนี้ ค่าส่งอาจสูงขึ้นตามระยะทางที่เพิ่มขึ้น โดยค่าส่งเหล่านั้นจะถูกจัดสรรเพื่อให้กับพาร์ทเนอร์คนขับเพื่อชดเชยการเดินทางที่มีระยะไกลกว่าเดิม

*อย่างไรก็ตาม รัศมีการให้บริการอาจมีการปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม โดยเฉพาะในบางช่วงเวลา เช่น ฝนตก ทั้งนี้ เพื่อให้พาร์ทเนอร์คนขับสามารถให้บริการได้อย่างสะดวกและปลอดภัยมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

สภาพคล่องทางการเงิน:

เราตระหนักว่า กระแสเงินสด (Cash Flow) ถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก ดังนั้น แกร็บจึงได้ออกแบบให้แอปพลิเคชันของเราตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการ โดยพาร์ทเนอร์ร้านอาหารสามารถรับเงินค่าอาหารผ่านการโอนเข้าบัญชีธนาคารได้ในวันถัดไป ทั้งยังสามารถตรวจสอบรายงานการขายได้ผ่านทางแอปและอีเมลได้แบบวันต่อวัน

 

Q: คุณได้ขึ้นค่าบริการหรือค่าคอมมิชชันบ้างหรือเปล่า?

เปล่า เราไม่ได้ปรับขึ้นค่าบริการหรือค่าคอมมิชชันสำหรับบริการ GrabFood ในช่วงที่ผ่านมา และจะไม่มีการปรับขึ้นตลอดช่วงโควิด-19 นี้ อย่างไรก็ตาม ในบางช่วงเวลาซึ่งมีออเดอร์จำนวนมากและมีจำนวนพาร์ทเนอร์คนขับไม่เพียงพอต่อความต้องการ อาจมีการคิดค่าบริการเพิ่มขึ้น 5 – 10 บาท

ค่าส่งเป็นอัตราตามสถานการณ์ปกติ ขึ้นอยู่กับระยะทาง อย่างไรก็ตาม
– ผู้ใช้บริการยังสามารถเลือกสั่งอาหารจากร้านที่อยู่ใกล้ ซึ่งมีค่าส่งถูกกว่า
– ค่าส่งที่เพิ่มขึ้น (จากระยะทางที่มากขึ้น) จะถูกจัดสรรเพื่อเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นสำหรับพาร์ทเนอร์คนขับ

 

หมายเหตุ: โดยปกติ ผู้ใช้บริการ GrabFood สามารถสั่งอาหารได้ในรัศมี 10 กม. แต่ในช่วงโควิด-19 เราได้ขยายรัศมีการให้บริการออกไปเป็น 20 กม. เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงลูกค้าของพาร์ทเนอร์ร้านอาหาร ทั้งนี้ อาจมีการปรับเปลี่ยนรัศมีการให้บริการในบางช่วงเวลา เช่น ฝนตก หรือเมื่อมีการประกาศเคอร์ฟิว เพื่อให้พาร์ทเนอร์คนขับสามารถให้บริการได้สะดวกและปลอดภัยมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

Q: มีพาร์ทเนอร์คนขับผู้จัดส่งอาหารหลายคนได้แชร์ว่า รายได้ของพวกเขาได้รับผลกระทบเช่นกัน แบบนี้แปลว่าแกร็บจ่ายเงินให้กับพาร์ทเนอร์คนขับน้อยลงหรือเปล่า?

ก) เราไม่ได้มีการปรับค่ารอบของพาร์ทเนอร์คนขับ ทั้งนี้ จำนวนงานที่พวกเขาได้รับในแต่ละวันอาจมากน้อยแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับพื้นที่และการแข่งขัน
ข) สำหรับเบี้ยขยันหรืออินเซนทีฟ เราได้มีการปรับเพิ่มอัตราของสิทธิประโยชน์ดังกล่าวในพื้นที่นอกย่านธุรกิจ (Non-CBD areas) *เป็นการชั่วคราว* เพื่อกระตุ้นการรับงานในพื้นที่นั้นๆ

พาร์ทเนอร์คนขับได้รับเงินจากค่าส่งและทิปเต็ม 100% และเพื่อให้มั่นใจว่า พวกเขาจะได้รับค่าตอบแทนที่คุ้มแรง แกร็บยังได้สมทบเบี้ยขยันหรืออินเซนทีฟเพื่อสร้างแรงจูงใจให้พวกเขาด้วย

เราได้นำฟีเจอร์ใหม่ๆ มาใช้เพื่อช่วยให้พาร์ทเนอร์คนขับสามารถให้บริการจัดส่งอาหารได้ง่ายขึ้น เช่น ระบบการรับงานแบบ batching ซึ่งเป็นการรวมออเดอร์ที่สั่งอาหารจากพื้นที่เดียวกันให้คนขับคนเดียว เพื่อช่วยให้พาร์ทเนอร์คนขับได้รับงานเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน ถือเป็นอีกหนึ่งฟีเจอร์ที่ช่วยลดระยะทางที่พาร์ทเนอร์คนขับต้องเดินทางไปได้มากถึง 40%

 

สิ่งที่บริการเดลิเวอรียังต้องพัฒนา

เราเข้าใจดีว่าโมเดลธุรกิจของการบริการจัดส่งอาหารนั้นอาจยังไม่สมบูรณ์แบบ ต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการจัดส่งอาหารในแต่ละออเดอร์ยังถือว่าสูง ซึ่งเราได้พยายามปรับโมเดลธุรกิจนี้อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ทั้งนี้ แกร็บเชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีจะช่วยให้การดำเนินธุรกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่เฉพาะกับการทำงานของบริษัท แต่ยังรวมถึงการพาร์ทเนอร์ร้านอาหาร และพาร์ทเนอร์คนขับด้วย ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายโดยรวมสำหรับการบริการในแต่ละออเดอร์ และสร้างความยั่งยืนทางธุรกิจให้เกิดขึ้นกับทุกฝ่ายบนแพลตฟอร์มของเรา

 

แกร็บจะยังคงมุ่งรักษาความสมดุลเพื่อประโยชน์ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ผู้ใช้บริการ พาร์ทเนอร์ร้านอาหาร พาร์ทเนอร์คนขับ และแพลตฟอร์มของเราอย่างต่อเนื่อง