ใบขับขี่รถยนต์มีกี่ประเภท ใบขับขี่ประเภท 2 แตกต่างยังไง

ใบอนุญาตขับขี่ ถือเป็นสิ่งสำคัญ สำหรับทุกคน เนื่องจากเป็นตัวที่บ่งบอกว่าเราสามารถขับขี่รถยนต์โดยได้รับอนุญาตตามประเภทรถนั้น ๆ หากขับขี่โดยไม่มีใบอนุญาตขับขี่ จะได้รับโทษตามกฎหมาย โดยระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังเสียสิทธิ์จากการได้รับความคุ้มครองจากประกันภัยที่เกี่ยวกับรถอีกด้วย ประเภทใบขับขี่

ใบขับขี่รถยนต์มีกี่ประเภท? แต่ละประเภทใบขับขี่แตกต่างกันอย่างไร?

ใบขับขี่ หรือใบขับขี่รถยนต์จะถูกแยกออก เป็น 2 ประเภทหลัก ๆ คือ

  • ใบขับขี่ประเภท บ. (ส่วนบุคคล)

ใบอนุญาตขับขี่ขนส่งสำหรับการใช้งานแบบส่วนบุคคลรวมถึงสามารถใช้เคลื่อนย้าย หรือทำการขนส่งเพื่อการค้าได้เช่นเดียวกัน (เฉพาะธุรกิจส่วนตัว) แต่จำกัดน้ำหนักการขนส่งไม่เกิน 1,600 กิโลกรัม และต้องไม่ใช่การรับจ้าง

  • ใบขับขี่ประเภท ท. (ทุกประเภท)

 ใช้สำหรับรถสาธารณะ รถที่มีแผ่นป้ายทะเบียนสีเหลือง ซึ่งใบอนุญาตขับรถทุกประเภทนั้น สามารถใช้ทดแทน ใบอนุญาตขับรถประเภทส่วนบุคคลได้ และใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถสาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ได้

ใบขับขี่ประเภทส่วนบุคคล (ประเภท บ.)

  1. ใบอนุญาตขับรถชนิดชั่วคราว ประเภท บ. (อายุ 2  ปี)

ในตอนแรกที่ไปทำใบขับขี่ ผู้ขอทำใบขับขี่ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นรถชนิดใดก็ตาม จะได้รับเพียงใบขับขี่แบบชั่วคราวก่อน ซึ่งมีอยู่ 3 ประเภทโดยใบขับขี่ประเภทนี้มีอายุการใช้งาน 2 ปี สามารถทำได้เมื่อมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป

  • ใบขับขี่รถยนต์ชั่วคราว
  • ใบขับขี่ขับรถยนต์สามล้อชั่วคราว
  • ใบขับขี่ขับรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราว
  1. ใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลหรือใบขับขี่รถยนต์ ประเภท บ. (อายุ 5 ปี) 

เมื่อใช้งานใบขับขี่รถยนต์ประเภทชั่วคราวจนครบอายุการใช้งานแล้ว สามารถนำใบขับขี่มาต่ออายุเป็นใบขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลที่มีอายุการใช้งาน 5 ปี

  1. ใบอนุญาตขับรถยนต์สามล้อส่วนบุคคล ประเภท บ. (อายุ 5 ปี) 

มีเงื่อนไขคล้าย ๆ ใบขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคล คือ ทำครั้งแรกจะได้ใบขับขี่แบบชั่วคราวก่อน เมื่อแบบชั่วคราวหมดอายุ สามารถต่อเป็นใบขับขี่แบบ 5 ปีได้

  1. ใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลหรือใบขับขี่มอเตอร์ไซค์ ประเภท บ. (อายุ 5 ปี) 

สามารถทำได้เมื่อมีอายุ 20 ปีขึ้นไป และต้องได้รับใบขับขี่รถจักรยานยนต์แบบชั่วคราวมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี

  1. ใบอนุญาตขับรถตามความตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี (ใบอนุญาตขับรถระหว่างประเทศ) หรือใบขับขี่สากล ประเภท บ. (อายุ 1 ปี) 

ใบขับขี่สากล เป็นใบขับขี่ที่อนุญาตให้ขับรถได้ตามความตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาค ไม่มีการกำหนดอายุขั้นต่ำในการทำ แต่ต้องมีใบขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลมาแล้ว และมีสำเนาหนังสือเดินทางประกอบ จึงจะสามารถยื่นเรื่องทำใบขับขี่สากลได้ ใบขับขี่ชนิดนี้มีอายุ 1 ปี สามารถใช้ได้ในประเทศที่ยอมรับใบขับขี่สากล 

ใบขับขี่แบบทุกประเภท (ประเภท ท.)

  1. ใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะหรือใบขับขี่สาธารณะ ประเภท ท. (อายุ 3 ปี)

เป็นใบขับขี่สำหรับคนที่ประกอบอาชีพขับรถสาธารณะ เช่น ขับแท็กซี่ บริการรถยนต์ส่วนตัว (GrabCar) คนขับรถส่งของ เป็นต้น โดยต้องได้รับใบขับขี่รถยนต์ชั่วคราวมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือมีใบขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลอยู่แล้ว และสามารถทำได้เมื่อมีอายุ 22 ปีขึ้นไป

  1. ใบอนุญาตขับรถยนต์สามล้อสาธารณะ ประเภท ท.(อายุ 3 ปี) 

ใบขับขี่รถสามล้อ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ รถตุ๊กตุ๊ก มีเงื่อนไขว่าต้องทำใบขับขี่แบบชั่วคราวก่อน เช่นกันกับใบขับขี่ของรถยนต์ และจะมีอายุการใช้งานได้ 5 ปีเช่นกัน

  1. ใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์สาธารณะ ประเภท ท.(อายุ 3 ปี)

คนที่จะทำใบขับขี่ชนิดนี้ได้ จะต้องมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ และมีใบขับขี่จักรยานยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราวมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี โดยใบขับขี่มีอายุการใช้งาน 3 ปี คนที่ทำงานเป็นไรเดอร์ ขับรถส่งของ ส่งอาหาร ต้องมีใบขับขี่ประเภทนี้

  1. ใบอนุญาตขับรถบดถนน ประเภท ท. (อายุ 5 ปี) 

สำหรับใบขับขี่รถบดถนนนั้น ผู้ขับจะต้องผ่านการอบรมหลักสูตรพิเศษต่างๆ เช่น หลักสูตร กฎหมายที่เกี่ยวข้อง (กฎหมายว่าด้วยรถยนต์ กฎหมายว่าด้วยทางหลวง และกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก) เพื่อให้สามารถใช้งานรถบดถนนที่มีความอันตรายสูงได้อย่างปลอดภัย โดยใบขี่ประเภทนี้ สามารถทำได้เมื่อมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป

  1. ใบอนุญาตขับรถแทรกเตอร์ ประเภท ท. (อายุ 5 ปี)

ใบขับขี่สำหรับขับรถแทรกเตอร์ คนขับจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ และใบขับขี่จะมีอายุการใช้งาน 5 ปี

     6. ใบอนุญาตขับรถชนิดอื่น ประเภท ท.  (อายุ 5 ปี )

ใบขับขี่ประเภทนี้คือใบอนุญาตสำหรับผู้ขอขับรถชนิดอื่น ๆ  เช่น รถใช้งานเกษตรกรรม เป็นต้น 

จองคิวทำใบขับขี่ล่วงหน้าผ่านระบบออนไลน์

จองคิวทำใบขับขี่ล่วงหน้าผ่านระบบออนไลน์ทำอย่างไร

ขั้นตอนการจองคิวเพื่อเข้ารับใบขับขี่ที่กรมขนส่งฯ (กรณีทำใบขับขี่ใหม่)

  1.  ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น DLT Smart Queue

iOS : DLT Smart Queue

Android : DLT Smart Queue

  1. เลือกการใช้งานด้วยบัตรประชาชนหรือพาสปอร์ต
  2. เลือกสำนักงานขนส่งที่ต้องการติดต่อ และเลือกงานใบอนุญาต
  3. เลือกวันและเวลาที่สะดวกเข้าไปดำเนินการ แล้วกดยืนยันการจอง
  4. จะได้รับใบนัดที่แสดงเป็น QR code ให้แคปหน้าจอไว้เป็นหลักฐานเพื่อแสดงต่อเจ้าหน้าที่

สำหรับใครที่ทำการจองคิวต่อใบขับขี่ออนไลน์แล้ว จะต้องผ่านการอบรมต่อใบขับขี่ผ่านระบบ e-leaning หรืออบรมต่อใบขับขี่ออนไลน์ด้วยก่อนไปดำเนินการขั้นตอนอื่นที่สำนักงานขนส่ง รวมทั้งต้องแต่งกายตามระเบียบ ห้ามใส่กางเกงขาสั้นและรองเท้าแตะนะคะ

การอบรมและต่อใบขับขี่ออนไลน์ สามารถทำได้ดังกรณีต่อไปนี้

  • อบรมต่อใบขับขี่ล่วงหน้าได้ก่อนใบขับขี่หมดอายุ 90 วัน
  • อบรมต่อใบขับขี่ใบขับขี่หมดอายุไม่เกิน 1 ปี ใช้เวลา 1 ชั่วโมง
  • อบรมต่อใบขับขี่หมดอายุเกิน 1 ปี ใช้เวลา 2 ชั่วโมง

โดยดำเนินการตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
1. ใช้เข้าเว็บไซต์ ระบบการอบรมใบอนุญาตขับรถ dlt-elearning.com  สำหรับลงทะเบียนหรือเข้าสู่ระบบ กรอกข้อมูลให้เรียบร้อย
2. เลือกอบรมในรูปแบบที่ต้องการต่อใบขับขี่
3. เมื่ออบรมเสร็จแล้ว สามารถจองคิวผ่านแอปพลิเคชัน DLT Smart Queue ได้ทั้ง iOS และ Android สำหรับจองวันทำใบขับขี่ใหม่ โดยเลือกวัน รอบเวลา สำนักงานขนส่ง หรือประเภทงานบริการได้ตามต้องการ

 

สิ่งที่ต้องเตรียมก่อนทำใบขับขี่

กรณีทำใบขับขี่ใหม่ เอกสารที่ต้องใช้ในการสอบใบขับขี่รถยนต์ครั้งแรก ได้แก่

  • บัตรประชาชนตัวจริง ซึ่งจะต้องใช้ยืนยันกับเจ้าหน้าที่ และการสอบข้อเขียน
  • ใบรับรองแพทย์ อายุไม่เกิน 1 เดือน เพื่อความถูกต้องแนะนำให้แจ้งกับสถานพยาบาลให้ชัดเจนว่า ขอใบรับรองแพทย์สำหรับประกอบการขอรับใบขับขี่ เพื่อจะได้มีข้อมูลการตรวจที่ครบถ้วนสมบูรณ์ 

ค่าธรรมเนียม ทำใบขับขี่

สำหรับค่าธรรมเนียมในการสอบใบขับขี่ครั้งแรก ในส่วนของรถยนต์มีค่าธรรมเนียม 205 บาท แบ่งเป็น ค่าทำใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราว 200 บาท และค่าคำขอ 5 บาท

กรณีต่อใบขับขี่

อกสารที่ต้องใช้ในการต่อใบขับขี่รถยนต์ ได้แก่

  • บัตรประชาชนตัวจริง
  • ใบขับขี่เดิม
  • ใบรับรองแพทย์ อายุไม่เกิน 1 เดือน
  • ใบรับรองผลทดสอบการอบรมใบขับขี่ ซึ่งแนะนำให้อบรมผ่านระบบ e-Learning ได้ทาง www.dlt-elearning.com จะได้ไม่ต้องรอนาน
  • มีการทดสอบสมรรถภาพร่างกาย เช่น การทดสอบทางสายตา, ทดสอบการมองเห็นสี, ทดสอบปฏิกิริยาเท้า

ค่าธรรมเนียมการต่อใบขับขี่

– รถยนต์ 505 บาท

– รถจักรยานยนต์ 255 บาท 

 

ใบขับขี่ประเภท 2 คืออะไร แตกต่างกันอย่างไร

ใบอนุญาตขับขี่ที่สามารถขับรถได้ทุกประเภทอย่างถูกต้องตามกฎหมายทั้งรถส่วนบุคคลและรถสาธารณะเช่น รถเมล์ รถบรรทุกหกล้อ รถตู้ รถเก๋ง รถกระบะ รถสามล้อหรือรถประเภทอื่น ๆ  สามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

ใบขับขี่ประเภท 2 บ.2 คือ ใบขับขี่รถส่วนบุคคลสำหรับที่ไม่ได้ใช้ในเชิงพาณิชย์ เช่น รถเก๋ง หรือรถกระบะ

ใบขับขี่ประเภท 2 ท.2 คือ ใบขับขี่สำหรับขับรถขนส่งโดยรถขนาดเล็กทั้งแบบประจำทาง และไม่ประจำทางสำหรับรถบรรทุกที่มีน้ำหนักรวมกันเกิน 3,500 กิโลกรัม หรือรถขนส่งผู้โดยสารเกินกว่า 20 คน เช่น รถบัส รถตู้สาธารณะ รถเมล์ รถแท็กซี่ รถขนส่งสินค้า หรือรถบรรทุก 10 ล้อ

การเลือกใช้ใบขับขี่ให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด ก็เพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนร่วมกัน เพราะรถแต่ละประเภทจำเป็นต้องใช้ทักษะในการขับขี่ที่แตกต่างกันออก หลังจากที่รู้จักกับประเภทของใบขับขี่แล้วหากใครที่สนใจขับ Grab ก็อย่าลืมทำใบขับขี่สาธารณะด้วยนะคะ สนใจขับรถส่งคน หรือส่งอาหารแบบเดลิเวอรี่ Apply Online