หน้ากากอนามัย คือ หน้ากากที่ใช้เพื่อช่วยป้องกันระบบทางเดินหายใจจากมลพิษ สารพิษ และ เชื้อโรค ในหลายกรณีแพทย์มักแนะนำให้ใช้หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เนื่องจากเป็นวิธีการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อไวรัสไปสู่ผู้อื่นได้ หากรู้วิธีใช้ที่ถูกต้อง ก็จะช่วยให้การป้องกันมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
การไอ จามแต่ละครั้งจะทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายออกไปได้ไกลถึง 3 ฟุต และลอยปะปนอยู่ในอากาศ ทำให้ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดมีโอกาสได้รับเชื้อ การใส่หน้ากากอนามัยสามารถลดการแพร่กระจายของอณูเล็ก ๆ ที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนได้ถึงร้อยละ 80 ดังนั้น ควรใส่หน้ากากอนามัยเมื่อจำเป็นต้องออกไปในที่แออัด หรือต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่นในที่สาธารณะ เช่น ห้องเรียน ห้องทำงาน ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ โรงแรม โรงพยาบาล รถโดยสาร เครื่องบิน โดยเฉพาะในห้องปรับอากาศ ฯลฯ
วิธีการใช้หน้ากากอนามัยที่ถูกต้อง มีดังนี้
- ล้างมือให้สะอาด
- จับที่บริเวณสายคล้องหูของหน้ากากอนามัยทั้งสองข้าง (หากเป็นหน้ากากอนามัยชนิดเยื่อกระดาษ ให้สังเกตด้านที่มีสีเขียว หรือด้านที่มีลวด ให้หันด้านนั้นออกด้านนอก
- ก่อนใส่ต้องให้ลวดอยู่ด้านบนตรงบริเวณจมูก จากนั้นนำสายคล้องเข้ากับหู
- กดขอบลวดให้แนบกับราวดั้งจมูกเรื่อยมาจนถึงใต้ขอบตา ไม่ให้มีช่องว่างระหว่างหน้ากากกับใบหน้า
- สวมหน้ากากให้คลุมทั้งจมูกและปาก โดยดึงลงมาให้อยู่บริเวณใต้คาง
- ระหว่างการสนทนากับผู้อื่นไม่ต้องถอดหน้ากากอนามัย
- การรับประทานอาหารหรือน้ำ ให้จับบริเวณด้านบนของหน้ากากอนามัย ดึงลงมาไว้ใต้คางก่อนดึงกลับขึ้นไปใหม่
- ต้องเปลี่ยนหน้ากาก เมื่อเปรอะเปื้อน หรือเปียกชื้นในแต่ละวัน อาจใช้หน้ากากอนามัย 2-3 ชิ้น
- การถอดหน้ากากอนามัยหลังใช้งาน ต้องจับบริเวณสายคล้องหูแล้วปลดออก
- หน้ากากอนามัยแบบเยื่อกระดาษใช้แล้วต้องทิ้ง และถ้าเป็นแบบผ้า สามารถซักแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้
- การทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว ควรใส่ถุงพลาสติกก่อนทิ้งลงถังขยะที่มีฝาปิด เพราะถือเป็นขยะติดเชื้อที่ต้องกำจัดอย่างมิดชิด จากนั้นล้างมือให้สะอาด
ฉะนั้น จะเห็นได้ว่าหน้ากากอนามัยมีความสำคัญอย่างมากต่อการป้องกันไวรัสโคโรน่า และป้องกันโรคติดต่ออื่น ๆ ได้ ตลอดจนป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคไปสู่ผู้อื่นได้ โดยสวมหน้ากากอนามัยเป็นประจำเมื่อต้องอยู่สถานที่แออัด หรืออยู่ร่วมกับผู้อื่นในที่สาธารณะ จะช่วยป้องกันตนเองจากการติดเชื้อโรค
แหล่งข้อมูล : ศูนย์ปฎิบัติการภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย